เทคนิครับมือภูมิแพ้ผิวหนัง หายคันอย่างปลอดภัย

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อโรคภูมิแพ้ผิวหนังที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคัน เป็นผื่น หรืออาการทางผิวหนังอื่น ๆ แต่อาจจะยังไม่รู้ว่าโรคนี้มีสาเหตุจากอะไร รวมถึงวิธีการรับมือที่ถูกต้องเพื่อลดอาการคันจากโรคอย่างปลอดภัย และหากยังไม่ชัวร์ว่าผื่นคันที่คุณเป็นอยู่นั้น จริง ๆ แล้วใช่ภูมิแพ้ผิวหนังหรือไม่ สามารถเช็กด้วยตัวเองง่าย ๆ ได้ที่บทความนี้เลย

รู้จักและเช็กอาการเบื้องต้น แค่ไหนเรียกโรคภูมิแพ้ผิวหนัง?

Atopic Dermatitis หรือภูมิแพ้ผิวหนังที่ก่อให้เกิดผื่นคัน คืออาการผิวหนังอักเสบเรื้อรังจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นเพราะร่างกายของผู้ป่วยที่มีความไวต่อสารก่อภูมิแพ้บางชนิดมากเกินไป ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้แน่ชัด ส่วนใหญ่จะพบตั้งแต่ในช่วงขวบปีแรก มักมีผื่นขึ้นบริเวณขาและแก้ม และหลังจากอายุ 1 ขวบขึ้นไป จะพบผื่นที่มีลักษณะเฉพาะมากขึ้นบริเวณข้อพับแขน ขา และคอ อาจมีอาการทางกายหายใจร่วมด้วย เช่น หอบหืด คัดจมูก โดยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมักเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่

  1. ลักษณะทางพันธุกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบิดามารดาหรือบรรพบุรุษ ทำให้เซลล์มีความผิดปกติ ผิวสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย จึงแห้งและเกิดความระคายเคืองได้ง่ายขึ้น
  2. ภูมิต้านทานร่างกายทำงานมากกว่าปกติ ร่างกายมีความไวต่อสิ่งแปลกปลอมภายนอกเป็นพิเศษ จึงเกิดเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง รู้สึกคัน ระคายเคือง หรือเป็นผื่นเมื่อสัมผัสสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ โดยเฉพาะสารเคมี เช่น สบู่ น้ำหอม ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน เป็นต้น

สำหรับลักษณะผื่นของคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง หลัก ๆ แล้วจะมีอาการคันยุบยิบ เป็นผื่นแดง ผิวแห้งเป็นขุยแบบเป็น ๆ หาย ๆ ยิ่งเกาก็จะยิ่งคัน และยิ่งคันมากขึ้นเมื่อเหงื่อออก รวมทั้งยังอาจมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย

  • สีผิวเข้มขึ้นหรืออ่อนลงกว่าปกติ
  • ผิวแตกเป็นสะเก็ดตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย
  • ผิวบอบบางกว่าปกติ เกาแล้วมีอาการบวม
  • รู้สึกคันตามผิวหนัง โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
  • ผิวเป็นปื้นสีแดง มักพบในบริเวณมือ เท้า ข้อเท้า ข้อมือ ข้อพับ อกช่วงบน คอ เปลือกตา ใบหน้า และศีรษะ
  • มีตุ่มพองหรือแผลพุพองขนาดเล็ก หากเกาอาจแตกแล้วมีของเหลวไหลออกมาได้
  • มีของเหลวหรือเลือดไหลออกมาจากหู

วิธีรับมือภูมิแพ้ผิวหนัง หยุดคันอย่างตรงจุด

สำหรับการดูแลรักษาโรคนี้นั้น เบื้องต้นสามารถทำเองได้ด้วยการทาโลชั่นที่มีส่วนผสมของมอยส์เจอร์ไรเซอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ลดปัญหาผิวแห้ง หลีกเลี่ยงสารเคมีหรืออาหารที่เสี่ยงจะทำให้เกิดอาการแพ้ ส่วนเวลาอาบน้ำก็ไม่ควรอาบน้ำอุ่นหรือฟอกสบู่นานเกินไป เลือกสวมเสื้อผ้าที่นุ่มสบาย ไม่หยาบและระคายเคืองผิว หากไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อรับยาทั้งยากินและยาทาเพื่อการรักษาที่ตรงจุดต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *